ข้าวก่ำ เป็นข้าวที่คนทางภาคเหนือนิยมปลูก เพื่อใช้รับประทาน จากการค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการ พบว่า ข้าวก่ำ มีสาร Anthocyanin (แอนโทไซยานิน) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ช่วยการหมุนเวียนของกระแสโลหิต ชะลอการเสื่อมของเซลล์ร่างกาย โดยเฉพาะสารแอนโทไซยานิน เป็นชนิดที่พบในข้าวสีม่วงกลุ่มอินดิก้า (ซึ่งรวมข้าวก่ำไทย) คือ cyanindin-3 glucoside ได้พิสูจน์แล้วว่ามีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด และมีสารแกมมาโอไรซ่านอล ซึ่งนอกจากจะมีคุณสมบัติต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเช่นเดียวกันแล้ว ยังสามารถลดคลอเรสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มระดับของ HDL ในเลือด และยังมีผลต่อการทำงานของต่อมใต้สมอง ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับของฮอร์โมนอินซูลินของคนเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ต้านการหืนของไขมันในรำข้าวและนมผงไขมันเต็ม
ในปี 2550 ร.ต.ต.พิทักษ์ชน และ คุณบุญรอง ปิยวรรณหงส์ สองพี่น้อง ได้นำพันธุ์ข้าวก่ำพะเยามาปลูกจำนวน 2 ปี๊บ ได้ผลผลิตข้าวทั้งหมด 145 ปี๊บ ภายใน 1 ปี จากนั้นได้นำข้าวก่ำพะเยาไปสีที่โรงสีของกลุ่มผู้สูงอายุวัดบ้านร่องแมด ตำบลทุ่งรวงทอง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ก่อนนำข้าวที่สีได้ไปขายที่ตลาดสดบ้านสักลอใหม่ และหมู่บ้านใกล้เคียง ปรากฏว่าขายดี ผู้สูงอายุซื้อไปรับประทานจำนวนมาก โดยราคาขายขณะนั้นอยู่ที่ 20 บาท ต่อลิตร
เริ่มแรกปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน แต่เห็นว่าข้าวก่ำพะเยามีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย จึงคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวก่ำพะเยา นำไปปลูกบนพื้นที่ 30 ไร่ โดยปลูกเป็นข้าวอินทรีย์ทั้งหมด และเริ่มแนะนำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเพื่อปลูกพันธุ์ข้าวก่ำพะเยาในปี 2552 ในแบบของข้าวอินทรีย์ มีสมาชิกทั้งหมด 20 ราย ปลูกบนพื้นที่ จำนวน 250 ไร่ ใช้ชื่อกลุ่มบ้านชาวนาข้าวก่ำพะเยา จากนั้นได้นำข้อมูลข้าวก่ำพะเยาไปเผยแพร่ลงผ่านอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ มูลนิธิกรีนพีซได้ขอยืมพันธุ์ข้าวก่ำพะเยาไปสร้างเป็นศิลปะบนนาข้าวที่จังหวัดราชบุรี ทั้งยังมีการเผยแพร่รูปภาพไปทั่วโลก ส่งผลให้ข้าวก่ำพะเยาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
สนใจผลิตภัณฑ์ “ก่ำพะเยา” ข้าวก่ำอินทรีย์ ของกลุ่มบ้านชาวนาข้าวก่ำพะเยา ติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์บุญรอง ปิยวรรณหงส์ ประธานกลุ่มฯ เลขที่ 59 หมู่ 8 ต. หงส์หิน อ.จุน จ. พะเยา 56150 โทร. 054 -896062, 086- 1157131