องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานโครงการฝ้ายหลวงจังหวัดพะเยา

วันที่ 21 เมษายน 2566 เวลา 08.57 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พระครูนิปุณพัฒนกิจ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุขิงแกง รองเจ้าคณะอำเภอจุน จังหวัดพะเยา เฝ้าถวายรายงานพิธีสรงน้ำพระธาตุขิงแกง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงและผ้าทอฝ้ายหลวงห่มพระธาตุไปในประเพณีสรงน้ำพระธาตุขิงแกง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โอกาสนี้นายอัษฎากรณ์ ฉัตรานันท์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานโครงการฝ้ายหลวงจังหวัดพะเยา และผ้าทอมือฝ้ายหลวงย้อมสีธรรมชาติ จากเครือข่ายวิจัยฝ้ายหลวงภาคเหนือ เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งนายอัครา พรหมเผ่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยพะเยา ในการสนับสนุนส่งเสริมอาชีพประชาชนบนฐานทุนวัฒนธรรมท้องถิ่น และ อบจ.พะเยาได้จัดทำแผนพัฒนา อบจ.พะเยา แผนงานสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จัดทำโครงการอบรมเพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฝ้ายหลวงส่งเสริมอาชีพประชาชนอย่างยั่งยืน พร้อมดำเนินการในปี 2566-2567 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs ในประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “ฝ้ายหลวง” เป็นฝ้ายท้องถิ่นแบบยืนต้น มีอายุยืนนานถึง 20 ปี ชอบแดด ออกผลผลิตได้ตั้งแต่ปีแรกที่ปลูก ทนทานวัชพืช แมลงรบกวนน้อย ไม่ต้องใช้สารเคมี และโตได้ดีในดินแทบทุกสภาพ หากบำรุงดินดีสามารถออกผลผลิตได้ปีละหลายครั้ง คนภาคเหนือโบราณปลูกตามหัวไร่ปลายนา บ้านละ 4-5 ต้น เมื่อโตเต็มที่จะสูงประมาณ 3-5 มตร ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าฝ้ายจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด และส่วนใหญ่ฝ้ายนำเข้ามาจากประเทศมหาอำนาจ เช่น จีน และ สหรัฐอเมริกา การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกฝ้ายตามแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม จะช่วยเรื่องสมดุลสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจระดับชุมชน และเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชนบนฐานทุนวัฒนธรรมเนื่องจาก คนเหนือยังใช้ฝ้ายในประเพณีตั้งแต่เกิดจนตายและเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากฝ้ายแหล่งใหญ่ของประเทศไทย